วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

microRNAs : ความหวังในการค้นหา marker สำหรับวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อน

เรียบเรียงจาก scientific american Spt 18, 2009 โดย Carina Storrs
3 ตุลาคม 2552

Scientists are looking at microRNAs for early detection of the notoriously silent cancer that usually becomes symptomatic after it is too late for treatment.

ความล้มเหลวในการตรวจพบมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยโรคนี้สูงมาก ประมาณการว่า ปีนี้ชาวอเมริกัน 42,000 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ และเกือบทั้งหมดต้องเสียชีวิต โดย 76% เสียชีวิตภายในปีแรกที่ตรวจพบ

ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ มักมาด้วยอาการปวดท้อง น้ำหนักลด และดีซ่าน ซึ่งกว่าจะถึงอาการเหล่านี้ มะเร็งก็เข้าระยะ metastasis แล้ว ทำให้การรักษาโดยผ่าตัดไม่ได้ผลอีกต่อไป การทำ MRI หรือ CT scan ก็ไม่สามารถตรวจพบเนื้อร้ายนี้ และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มี markers ในเลือดใดๆ ที่น่าเชื่อถือพอที่ทางห้องปฏิบัติการ จะนำมาใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

ความหวังใหม่ในการหา marker สำหรับโรคนี้ ได้มุ่งไปที่โมเลกุล RNA ขนาดเล็กที่เรียกชื่อว่า microRNAs ซึ่งเป็น RNA ที่ประกอบด้วย 19-25 nucleotides และไม่ถูกใช้ในการ translate เป็นโปรตีน แต่สามารถเข้าจับกับ target RNA ที่มี sequence ที่เข้ากันได้ ทำให้ RNA นั้นใช้สังเคราะห์โปรตีนไม่ได้ และถ้า target RNA ที่ถูกบล๊อคนี้ สามารถุถอดรหัสเป็น tumor suppressor protein ได้ ผลที่ได้สุดท้ายคือ ไม่มีการสร้าง tumor suppressor protein นั่นเท่ากับว่า microRNA นี้ ทำหน้าที่ส่งเสริมให้เซลล์มะเร็งเจริญได้ดี

จากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานว่า microRNA 'signature' มีความเกี่ยวพันกับโรคมะเร็ง โดยสามารถตรวจพบระดับ microRNAs ในเนื้อเยื่อมะเร็งชนิดต่างๆ สูงผิดปกติเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เป็นมะเร็ง และในคนไข้มะเร็งตับอ่อน ก็สามารถตรวจพบระดับ microRNAs หลายสิบชนิดที่มีปริมาณแตกต่างจากคนไม่เป็นโรคนี้

คณะผู้วิจัยจาก University of Texas M.D.Anderson Cancer Center ใน Houston ได้ทดลองตรวจหาระดับ microRNA จากตัวอย่างเลือด โดยเลือก microRNA 4 ชนิด มาใช้ในการทดลอง ผลปรากฎว่า สามารถตรวจพบ microRNAs ในกระแสเลือดได้ และในเลือดของคนไข้มะเร็งตับอ่อน จะมีระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับคนปกติ

อย่างไรก็ดี microRNAs 4 ชนิด ที่ใช้ในการทดลองนี้ ก็สามารถพบระดับสูงได้ในมะเร็งชนิดอื่นด้วย เช่น มะเร็งปอด และเต้านม ดังนั้น ผลที่ได้ จึงยังไม่สามารถใช้แยกแยะชนิดของมะเร็งออกจากกันได้ การทดลองขั้นต่อไป คือ ความพยายามค้นหา tissue-specific microRNAs ที่จำเพาะเฉพาะกับมะเร็งตับอ่อน เพื่อความหวังที่จะสามารถนำมาใช้ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

มะเร็งตับอ่อน เป็นมะเร็งชนิดที่สามต่อจากมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งรังไข่ ที่สามารถตรวจพบ microRNAs ได้จากเลือด นักวิทยาศาสตร์หวังว่า ในอนาคต ความรู้เกี่ยวกับ tissue-specific microRNAs จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจคัดกรองชนิดของมะเร็งได้ และยังมีความหวังที่จะตรวจพบระดับสารตัวนี้ในปัสสาวะ และน้ำลายด้วย ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ คนไข้ที่มาตรวจมะเร็ง จะไม่เจ็บตัวจากการถูกเจาะเลือดอีกต่อไปด้วย