วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

ยาต้านมะเร็งกลุ่ม PARP inhibitors : ความหวังของการรักษามะเร็ง

จาก เวบไซต์ โลกวันนี้
ปีที่ 10 ฉบับที่ 2632 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 18 กันยายน 2009

ลอนดอน : นักวิจัยสถาบันวิจัยโรคมะเร็งเต้านมอังกฤษ ค้นพบคุณสมบัติใหม่ของยารักษาโรคมะเร็งกลุ่มที่เรียกว่า PARP inhibitors อาจใช้รักษามะเร็งได้มากกว่าที่คิด ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงเมลาโนมา มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้

นักวิจัยสถาบันวิจัยโรคมะเร็งเต้านมของอังกฤษ นำทีมโดย ดร.คริส ลอร์ด เปิดเผยผลการค้นพบที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต โดยพวกเขาค้นพบคุณสมบัติใหม่ของยารักษาโรคมะเร็งกลุ่มที่เรียกว่า PARP inhibitors ว่า อาจใช้รักษามะเร็งได้หลากหลายชนิด ซึ่งหลังจากพบว่าสามารถใช้รักษามะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้แล้ว ล่าสุดยังพบอีกว่า ยาดังกล่าวอาจใช้รักษามะเร็งที่เกี่ยวพันกับการมียีน PTEN บกพร่องได้ด้วย ซึ่งยีนดังกล่าวนี้พบในเซลล์มะเร็งหลายชนิดเช่นกัน

ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่า เซลล์ที่มียีน PTEN บกพร่อง สามารถสนองตอบต่อยากลุ่มดังกล่าวได้มากกว่าเซลล์ปรกติถึง 25 เท่าตัว ซึ่งยีนดังกล่าว เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงเมลาโนมา มะเร็งมดลูก และมะเร็งลำไส้ระหว่าง 30-80%

สำหรับยารักษามะเร็งกลุ่ม PARP inhibitors เป็นยารักษามะเร็งวิธีใหม่เพื่อทำให้เซลล์ตาย หรือที่เรียกว่า synthetic lethality โดยยามุ่งทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ดี ด้วยการไปสกัดกั้นการซ่อมแซม DNA ของเซลล์มะเร็ง และสุดท้ายทำให้เซลล์ตาย ทำให้การรักษาส่งผลข้างเคียงกับผู้ป่วยเพียงเล็กน้อย ดังในกรณีเซลล์มะเร็งที่มียีน PTEN บกพร่อง มันจะอาศัยโปรตีนชื่อว่า PARP เพื่อป้องกัน DNA ไม่ให้ถูกทำลาย แต่ยา PARP inhibitors จะไปยับยั้งการทำงานของโปรตีนดังกล่าว และทำให้เซลล์มะเร็งตาย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเปิดเผยว่า ยังจำเป็นต้องทดสอบต่อไปเพื่อดูว่า ยาดังกล่าวจะสามารถใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกิดจากยีน PTEN ได้เป็นจำนวนมาก หรือใช้ได้เพียงเฉพาะราย